🧡 XONLY 🧡

LIGHT ZONE => ห้องนั่งเล่น => หัวข้อที่ตั้งโดย: 02766132 เมื่อ เมษายน 02, 2010, 07:59:43 ก่อนเที่ยง

ชื่อ: ให้พ่อ "เลิกเหล้า" ฝันที่ลูกๆ ส่วนใหญ่ร้องขอ!
โดย: 02766132 เมื่อ เมษายน 02, 2010, 07:59:43 ก่อนเที่ยง
เป็นความต่อเนื่องของโครงการ "ใกล้กันอีกนิดนะพ่อ" โดยมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับไปรษณีย์ไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็นของลูก ๆ ทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรมเขียนจดหมายของโครงการ "เล่าฝัน...วันของหนู อยากให้พ่อรู้จัง" พบว่า ความฝันอันดับหนึ่งของเด็ก ๆ อยากให้พ่อ ลด ละ เลิกเหล้ามากที่สุด รองลงมาอยากให้พ่อเป็นคนดีมีน้ำใจ เลิกสูบบุหรี่ และมีเวลาให้กับครอบครัว ตามลำดับ
       
       ผลสำรวจข้างต้น ถูกเปิดเผยโดย "วันชัย บุญประชา" ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จากโครงการ "เล่าฝัน...วันของหนู อยากให้พ่อรู้จัง" ที่มีเด็ก และเยาวชนส่งจดหมายและโปสการ์ดเข้าร่วมเล่าฝันให้พ่อฟังจำนวนทั้งหมด 7,506 ฉบับ จาก 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ความฝันอันดับหนึ่งของเด็ก ๆ คืออยากให้พ่อ ลด ละ เลิกเหล้า ร้อยละ 12.51 รองลงมาอยากให้พ่อเป็นคนดีมีน้ำใจ ร้อยละ 11.62 อยากให้พ่อเลิกสูบบุหรี่และมีเวลาให้กับครอบครัว ตามลำดับ
       
       แต่เมื่อเปรียบความฝันของเด็กในกรุงเทพมหานคร กับเด็กต่างจังหวัด จะเห็นภาพความแตกต่างอย่างชัดเจนว่า กลุ่มเด็กที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 30.97 ต้องการให้พ่อเลิกดื่มเหล้า เลิกสูบบุหรี่ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นเรื่องที่ลูกอยากให้พ่อมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพที่ดี ร้อยละ 24.52 ถัดมาเป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ร้อยละ 21.02 และอยากให้พ่อมีสุขภาพที่ดี ร้อยละ 19.06
       
       นายวันชัย ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันพ่อในอุดมคติของเด็กต่างจังหวัด อันดับแรกคือ อยากให้พ่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มากขึ้น อาจเป็นเพราะว่าเด็กไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อ หรือพ่อต้องมีภาระหน้าที่ไปทำงานต่างจังหวัด เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 27.10 รองลงมา ลูกอยากให้พ่อมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ร้อย 23.62 อยากให้พ่อเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกอบายมุข ร้อยละ22.78 และอยากให้พ่อมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพที่ดี ร้อย 23.62 ตามลำดับ
       
       นอกจากนี้ ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพสะท้อนของครอบครัวไทยในปัจจุบันว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เด็ก ๆ ได้แสดงความต้องการออกมา ถึงแม้ว่าพ่อของพวกเขาจะไม่ได้รับรู้ก็ตาม แต่มันทำให้สังคมได้รับรู้ว่าสถานการณ์ของเด็กไทยอยู่ในขั้นวิกฤต กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้าง เพราะเด็กมักจะสื่อความในใจออกมาจากการสภาพความเป็นจริงที่พบเจออยู่ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีแต่อบายมุข หรือการไม่ได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่

ด้าน "อี้ - แทนคุณ จิตต์อิสระ" คุณพ่ออาสาที่เข้ามาร่วมกันตอบคำถามตามหาความฝันให้กับเด็ก ๆ บอกเล่าอย่างน่าใจหายว่า จากที่ได้อ่านจดหมายและโปสการ์ดของเด็ก ๆ ที่ส่งมา ทำให้รู้ได้ว่าเด็กทุกคนมีปัญหาที่อึดอัดในใจ แต่ยังไม่กล้าเอ่ยปากพูดต่อหน้าพ่อแม่หรือคนในครอบครัว และเป็นสิ่งที่ดีมากที่สะท้อนความจริงในสังคม ณ ตอนนี้ว่าครอบครัวไทยวิกฤตทั้งความรักและความรู้ เพราะสังคมไทยมีแต่การรับรู้แต่ไม่เคยเกิดการเรียนรู้เลย และเชื่อว่ามีเด็กอีกไม่น้อยที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าว
       
       
       ถึงกระนั้นคุณพ่ออาสาแนะว่า การใช้ความรู้ และความรักในการประคับประคองให้คนในครอบครัวเติบโต และหลีกหนีการซึมซับเอาสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายรอบข้าง ไม่ใช่การปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม เพราะจะส่งผลให้มีแนวโน้มครอบครัวสลายมากขึ้น และนอกจากนั้นการใช้ความรุนแรงให้ครอบครัวเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุด มันเริ่มจากครอบครัวที่เด็กทำผิดมักจะลงโทษด้วยวิธี เฆี่ยนตี
       
       ซึ่งโครงการนี้เริ่มจากลูก แต่จบที่พ่อแม่ การที่ลูกไม่กล้าบอกความรู้สึกหรือความต้องการออกไป ตรงนี้จะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้มากขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้แก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด เพราะความจริงการเข้าสังคมมันปฎิเสธความเกรงใจไม่ได้ สำหรับต้องการของลูกให้พ่อเลิกเหล้า เลิกทำทุกสิ่งที่ไม่ดี แต่พ่อแม่สามารถทดแทนด้วยหลักการที่ว่าการให้เวลากับคนในครอบครัว
       
       แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าต้องนับเป็นนาที หรือชั่วโมงของเวลาที่ผ่านไป อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดของพ่อแม่ใหม่ ว่ามันไม่ใช่เชิงปริมาณแต่มันเป็นเชิงคุณภาพที่เกิดขึ้นกับลูก ในการสื่อสารพูดคุยของคนในครอบครัว ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการโทรศัพท์หาลูกบ่อย ๆ ถามไถ่เรื่องราวที่ลูกพบปะในแต่ละวันเท่านี้ลูกก็จะกล้าพูด กล้าเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้พ่อแม่ฟัง
       
       "ถึงวันนี้ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ไม่เพียงแต่คนที่เป็นพ่อเท่านั้น ควรทำความฝันของลูก ๆ ให้เป็นจริง โดยเริ่มจากเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะมาถึง ในการส่งเสริมให้ลูกรู้จักวัฒนธรรมประเพณีไทย การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ แทนการพาลูกเข้าไปอยู่ในวงเลี้ยงสังสรรค์" ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สรุปทิ้งท้าย