🧡 XONLY 🧡

LIGHT ZONE => ห้องนั่งเล่น => หัวข้อที่ตั้งโดย: 02766132 เมื่อ เมษายน 14, 2010, 06:48:07 ก่อนเที่ยง

ชื่อ: เลิกหวั่นโลกแตก "เซิร์น" เดินเครื่องอาทิตย์เดียวเกิด "บิกแบงจิ๋ว" 10 ล้านครั้ง
โดย: 02766132 เมื่อ เมษายน 14, 2010, 06:48:07 ก่อนเที่ยง
หลายคนหวาดหวั่นว่า การเดินเครื่องเร่งอนุภาคของ "เซิร์น" จะสร้างหลุมดำที่ดูดกลืนโลกทั้งใบ หรืออาจทำโลกแตกสลายกลายเป็นจุณ แต่ลืมความกลัวนั้นไปได้เลย เพราะหลังจากเร่งเครื่องชนอนุภาคด้วยพลังงานสูงที่สุดเท่าที่เคยมีต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ เกิด "บิกแบงจิ๋ว" กว่า 10 ล้านครั้ง โดยที่เราไม่รู้สึกกระเทือน
       
       เจมส์ กิลลีส์ (James Gillies) โฆษกของเซิร์น (CERN) เปิดเผยว่า เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ซึ่งเร่งอนุภาคให้ชนกันในเสี้ยววินาทีด้วยความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงนั้น ทำงานได้อย่างดียิ่ง และได้ข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณมาก และอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีที่การค้นพบใหม่จะอุบัติขึ้น
       
       รอยเตอร์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของเซิร์นต่างกระตือรือร้นในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการเดินเครื่องด้วยกำลังสูงสุด ซึ่งชวนให้ระลึกถึงเหตุการเมื่อปี 2008 ที่เซิร์นทดลองเดินเครื่องยิงอนุภาคเข้าท่อแอลเอชซีครั้งแรก และหลังจากนั้นเพียง 10 วันก็เกิดเหตุสารหล่อเย็นรั่วไหล และทำให้เซิร์นต้องปิดซ่อมแซมเครื่องเร่งอนุภาคยักษ์ที่อยู่ใต้นานดินนานกว่าปี
       
       นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายซึ่งต่างจับตาดูเครื่องเร่งอนุภาคยาว 27 กิโลเมตรที่ขดเป็นวงรูปไข่และฝังอยู่ใกล้เจนีวาใต้ชายแดนสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศสนี้ กล่าวว่าการชนของอนุภาคภายในเครื่องเร่งเกิดขึ้นวินาทีละ 100 ครั้ง มากกว่าการเดินเครื่องที่ระดับพลังงานสูงสุดวันแรก
       
       เมื่อวันที่ 30 มี.ค.53 ลำอนุภาคแรกถูกเร่งเข้าท่อแอลเอชซีและชนกันที่พลังงานรวมซึ่งไม่มีเคยมีการทดลองมาก่อนนั่นคือ 7 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ (TeV) หรือ 7 ล้านล้านเทราอิเล็กตรอนโวลต์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นก้าวใหญ่ของการวิจัยด้านจักรวาลวิทยา
       
       สำหรับการชนกันของอนุภาคนั้นได้จำลองให้เกิด "บิกแบง" (Big Bang) ขนาดเล็กๆ ซึ่งบิกแบงนั้นเป็นระเบิดครั้งใหญ่เมื่อ 1.37 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกสรรพสิ่งในเอกภพ ทั้งกาแลกซี ดวงดาว ดาวเคราะห์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงกฎทางฟิสิกส์อุบัติขึ้น ซึ่งตลอดสัปดาห์ของการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแบบมาราธอนนั้นเกิดบิกแบงขึ้นกว่า 10 ล้านครั้ง
       
       การติดตามว่าอนุภาคเป็นอย่างไรหลังชนกันนั้น นักวิจัยของเซิร์นคาดหวังว่าจะเผยให้เห็นความลับของจักรวาลอย่าง "สสารมืด" (dark matter) ซึ่งเป็นสสารที่มองไม่เห็น หรือเหตุใดสสารจึงมีมวล หรือจริงๆ แล้วมีมิติมากกว่า 4 มิติที่รู้จักกันอยู่แล้วหรือไม่
       
       นอกจากนี้การเดินเครื่องชนอนุภาคที่พลังงานรวม 14 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ อาจเผยให้เห็นร่องรอยของแนวคิดเกี่ยวกับ "จักรวาลคู่ขนาน" (parallel universe) หรือสมมติฐานของทฤษฎีสตริงที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับมิติที่มากขึ้น โดยชี้ว่าองค์ประกอบพื้นฐานของจักรวาลนั้นคืออนุภาคเส้นเชือกเล็กๆ แต่แนวคิดยังเป็นที่ถกเถียงอยู่หลายปี
       
       ทฤษฎีดังกล่าวยังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ "สมมาตรยิ่งยวด" (supersymmetry) ที่อธิบายว่า ทุกๆ อนุภาคมีอนุภาคที่มีมวลมากหรืออนุภาคที่เป็นเงาของอนุภาคนั้นๆ อันเป็นปรากฏการณ์ที่อาจอธิบายได้ว่า เหตุใดจึงมีสสารมืดในเอกภพมากถึง 25% ขณะที่สสารซึ่งมองเห็นได้กลับมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น
       
       ผู้สนับสนุนทฤษฎีนี้กล่าวว่า หากทฤษฎีตริงได้รับการพิสูจน์ว่าจริง จะช่วยสนับสนุน "ทฤษฎีสรรพสิ่ง" (general theory of everything) ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างทฤษฎีควอนตัมใหม่กับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ได้