🧡 XONLY 🧡

LIGHT ZONE => ห้องนั่งเล่น => หัวข้อที่ตั้งโดย: 02766132 เมื่อ เมษายน 20, 2010, 05:35:31 ก่อนเที่ยง

ชื่อ: ผลวิจัยเบื้องต้นชี้ฝุ่นเมืองเหนือเสี่ยงก่อมะเร็ง
โดย: 02766132 เมื่อ เมษายน 20, 2010, 05:35:31 ก่อนเที่ยง
นักวิจัยเผยฝุ่นในอากาศเมืองเหนือเสี่ยงก่อมะเร็ง เบื้องต้นพบสารก่อมะเร็งและอาการเริ่มต้นสู่มะเร็งของคนในพื้นที่ ระบุจะสรุปได้ชัดเจน ต้องทำวิจัยอีกเป็นเวลา 10-20 ปี แจงพบปริมาณฝุ่นนอกเมืองมากกว่าในเมือง สอดคล้องข้อมูลดาวเทียม พบการเผาไหม้ในป่าสงวนมากกว่าพื้นที่เกษตร
       
       ปัญหาอนุภาคฝุ่นในอากาศทางภาคเหนือ ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องหลายปี และรุนแรงเห็นได้ชัดในปี 2553 นี้ ซึ่งจากการตรวจวัดอนุภาคฝุ่นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือฝุ่นพีเอ็ม 10 (Particulate matter10: PM10) ถึง 518.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าระดับมาตรฐานที่กำหนดไว้ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
       
       ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล หัวหน้าศูนย์วิจัยพด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอนุภาคฝุ่นในอากาศในภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองในภาคเหนือนั้นเกิดขึ้นเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
       
       ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศมักเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-มี.ค.ซึ่งจากข้อมูลของสถานีตรวจวัดสภาพอากาศพบว่า พื้นที่นอกเมืองมีปริมาณฝุ่นมากกว่าพื้นที่ในเมือง โดยแหล่งกำเนิดฝุ่นนอกเมืองนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาขยะในบ้านเรือนและเศษใบไม้มากถึง 90% และมีความถี่ในการเผาสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
       
       นอกจากนี้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงเดือน มี.ค. 53 ยังพบจุดความร้อน (hot spots) ในพื้นที่ป่าสงวนมากที่สุดถึง 1,412 จุด และในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 760 จุด ส่วนในพื้นที่เกษตรพบจุดความร้อนน้อยที่สุด คือ 186 จุด ซึ่งจุดความร้อนนี้สอดคล้องพื้นที่มีปริมาณละอองฝุ่นปกคลุมมาก แต่ ดร.ทิพวรรณระบุว่า บางพื้นที่ใน จ.พะเยา และ จ.ลำพูน ซึ่งไม่มีจุดความร้อนเลยนั้นกลับมีปริมาณฝุ่นสูงเช่นกัน
       
       ทั้งนี้ ดร.ทิพวรรณ พร้อมคณะได้ศึกษาผลกระทบจากอนุภาคฝุ่นในอากาศต่อสุขภาพประชาชนในภาคเหนือตอนบน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามและเก็บตัวอย่างปัสสาวะนักเรียน ป.4-5 พร้อมผู้ปกครอง ในพื้นที่เป้าหมาย 18 ชุมชน
       
       การเก็บตัวอย่างข้อมูลในพื้นดังกล่าวนั้น เพื่อประเมินระดับการสัมผัสสารโพลีคลิคอโรมาติคไฮโดรคาร์บอนหรือพีเอเอช และลีโวกลูโคแซน ซึ่งเป็นสารที่มีรายงานวิจัยจากต่างประเทศว่าเป็นสารก่อมะเร็ง โดยสารพีเอเอชนั้นมีทั้งหมด 16 ชนิด บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ หากได้รับในปริมาณมากและรับต่อเนื่องยาวนาน และสารลีโวกลูโคแซนที่เกิดจากการแตกสลายของเซลลูโลสที่พบในป่าไม้นั้น ยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกชนิดด้วย
       
       นอกจากนี้ทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์ดักจับฝุ่นเพื่อวิเคราะห์หาสารพีเอเอชและลีโวกลูโคแซนที่อยู่บนฝุ่นด้วย และผลจากตรวจวัดระดับฝุ่นพีเอ็ม 10 พบว่าในชุมชนนอกเมืองสูงกว่าเขตเมือง ซึ่งข้อมูลระหว่างวันที่ 21 พ.ย.-10 ม.ค.53 พบว่าระดับฝุ่นพีเอ็ม 10 ในเขต อ.สารภี จ.เชียงใหม่ สูงกว่าในเขต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เกือบ 2 เท่า โดยระดับฝุ่นพีเอ็ม 10 สูงสุดใน อ.สารภี สูงถึง 103.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขตเมืองสูงสุด 52.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
       
       พร้อมกันนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และคณะสื่อมวลชนซึ่งเดินทางไปเยี่ยมชมความคืบหน้าของงานวิจัย พร้อมลงสำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพจากละอองฝุ่นในอากาศ ณ หมู่บ้านทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่ง น.ส.ธัญภรณ์ เกิดน้อย นักวิจัยร่วมในโครงการนี้กล่าวว่า เลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรเต็มตัว มีการเผาพื้นที่เพื่อการเกษตรและมีการเผาป่า อีกทั้งมีจำนวนนักเรียนชั้น ป.4-5 มากพอที่จะเก็บข้อมูลทำวิจัย
       
       นางนงคราญ ปัญญา พร้อมด้วยลูกสาวคือ ด.ญ.วัชราภรณ์ ปัญญา ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านทุ่งข้าวพวง ซึ่งเป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่ให้ข้อมูลรวมถึงให้ทีมวิจัยตรวจปัสสาวะ กล่าวว่าในช่วงที่อากาศปกคลุมไปด้วยฝุ่นนั้นรู้สึกไม่ค่อยสบาย มีอาการหวัด ไอและเจ็บคอ จึงแก้ปัญหาโดยใช้ผ้าชุบน้ำปิดปาก-ปิดจมูก และส่วนตัวคิดว่าฝุ่นที่ปกคลุมนั้นเกิดจากไฟป่า
       
       ผลจากการเก็บข้อมูลในช่วงอนุภาคฝุ่นปกคลุมอากาศนั้น เบื้องต้นพบว่ากลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ 56.3% มีอาการน้ำมูกไหล, 42.7% มีอาการคัดจมูก, 25.9% มีอาการคันตา และ 23.9% มีอาการไอและมีเสมหะ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ ดร.ทิพวรรณ กล่าวว่าเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ขณะเดียวกันมีการตรวจการทำงานของปอดในกลุ่มตัวอย่างซึ่ง ทีมวิจัยอยู่ระหว่างประมวลผลข้อมูล
       
       "ข้อมูลเหล่านี้มากพอที่จะบอกได้ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต และเป็นอาการที่ไม่ควรจะมี ไม่ต้องรอว่าจะเกิดโรคเรื้อรังขึ้นเมื่อไหร่ จึงค่อยแก้ปัญหา อย่างบุหรี่กว่าจะสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดนั้น ต้องใช้เวลาศึกษาเป็นเวลา 10-20 ปี ตอนนี้สรุปได้ว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่นละอองนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอนาคต" ดร.ทิพวรรณกล่าว