🧡 XONLY 🧡

LIGHT ZONE => ห้องนั่งเล่น => หัวข้อที่ตั้งโดย: 02766132 เมื่อ เมษายน 30, 2010, 05:30:23 ก่อนเที่ยง

ชื่อ: มะกันตื่นเต้น พบ "ไส้เดือนยักษ์" ในตำนานครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ
โดย: 02766132 เมื่อ เมษายน 30, 2010, 05:30:23 ก่อนเที่ยง
ทีมนักวิจัยในไอดาโฮตื่นเต้น หลังพบไส้เดือนยักษ์ในตำนานยังมีชีวิตอยู่ให้เห็น จากที่เคยคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว และเป็นเพียงไส้เดือนพื้นเมืองเพียงไม่กี่ชนิดในสหรัฐฯ นักวิทย์เผยไส้เดือนตัวใหญ่จริงแต่ยังเล็กกว่าที่เล่าขาน ทั้งยังไม่มีกลิ่นเหมือนดอกลิลลีอย่างที่ลือกัน เร่งตรวจสอบดีเอ็นเอและหาทางอนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์
       
       ไส้เดือนยักษ์ที่ว่านี้คือไส้เดือนพาเลาซ์ (Palouse earthworm) ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณทุ่งหญ้าพาเลาซ์ (Palouse prairie) ซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อของรัฐไอดาโฮและวอชิงตัน สหรัฐฯ โดยมีเสียงเล่าลือมานานว่า ไส้เดือนยักษ์ชนิดนี้มีขนาดยาวถึง 3 ฟุต และมีกลิ่นหอมคล้ายดอกลิลลี แต่ไม่มีใครได้พบเห็นมานานร่วม 2 ทศวรรษ จึงคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว
       
       ทว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา ชานซู (Shan Xu) นักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยไอดาโฮ (University of Idaho) ในเมืองมอสโคว์ มลรัฐไอดาโฮ พร้อมทีมวิจัย ได้สำรวจพบไส้เดือนยักษ์พาเลาซ์จำนวน 2 ตัว ในทุ่งหญ้าพาเลาซ์ หลังจากทดลองใช้เครื่องกระตุ้นไส้เดือนด้วยไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นใหม่ โดยแทงเครื่องมือเข้าไปในดินและปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้ไส้เดือนโผล่ขึ้นมาที่ผิวดิน ซึ่งเครื่องมีนี้มีอันตรายกับไส้เดือนน้อยกว่าการใช้พลั่วขุดดินมาก และยังพบถุงไข่ของไส้เดือนอีก 3 ถุง ในบริเวณใกล้เคียง โดยฟักเป็นตัวไปแล้ว 2 ถุง
       
       "มันเป็นวันดีของไส้เดือน" โจดี้ จอห์นสัน-เมย์นาร์ด (Jodi Johnson-Maynard) นักปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยไอดาโฮ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย กล่าว ซึ่งเป็นการค้นพบตัวอย่างไส้เดือนยักษ์พาเลาซ์เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังจากที่คิดว่าสัตว์ชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ตามรายงานของเอพี
       
       อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้นมีคำเล่าลือว่าไส้เดือนชนิดนี้จะมีขนาดยาวประมาณ 3 ฟุต และมีกลิ่นหอมคล้ายดอกลิลลี ซึ่งจอห์นสัน-เมย์นาร์ด บอกในนิวยอร์กไทม์ว่าทีมวิจัยได้พยายามติดตามค้นหาไส้เดือนชนิดนี้มานานตามที่ได้ยินเรื่องเล่า และตัวอย่างไส้เดือนยักษ์ที่พบเมื่อหลายปีก่อนที่มีขนาดยาวมากเนื่องจากถูกเด็กเหวี่ยงเล่นในอากาศจนใส้เดือนตัวยืดออกไปมากกว่าปกติ
       
       การค้นพบครั้งนี้ได้แย้งเรื่องเล่าดังกล่าวอย่างชัดเจน ไส้เดือนพาเลาซ์ที่พวกเขาพบนี้ตัวหนึ่งเป็นตัวเต็มวัยที่มีความยาว 10-12 นิ้ว และอีกตัวหนึ่งยังไม่โตเต็มที่ ซึ่งมีความยาว 6-7 นิ้ว มีลำตัวโปร่งแสง ทำให้มองเห็นอวัยวะภายในได้ ส่วนหัวของมันเป็นสีชมพูและมีหางรูปร่างคล้ายกระเปาะ ตัวเต็มวัยมีแถบสีเหลืองอยู่ด้านหลังส่วนหัว และไม่มีกลิ่นเหมือนดอกลิลลีตามที่เล่าลือกันมานาน
       
       ทั้งนี้ ไส้เดือนดินที่พบทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เกือบส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในยุโรป ซึ่งมาพร้อมกับต้นไม้และดินที่ถูกขนส่งมาทางเรือในยุคค้นพบโลกใหม่ แต่ไส้เดือนดินยักษ์พาเลาซ์เป็นหนึ่งในสปีชีส์ดั้งเดิมที่มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด
       
       "สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเราคือ นี่เป็นครั้งแรกที่เราพบตัวอย่างไส้เดือนดินที่สมบูรณ์และยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเราสามารถเก็บเอาตัวอย่างดีเอ็นเอมาศึกษาและทำการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ได้" จอห์สัน-เมย์นาร์ด กล่าว ซึ่งตัวอย่างไส้เดือนที่โตเต็มวัยถูกทำให้ตายเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไส้เดือนดินที่มหาวิทยาลัยแคนซัส (University of Kansas) ศึกษาอย่างละเอียด ส่วนตัวที่ยังไม่โตเต็มวัย ทีมวิจัยยังเลี้ยงไว้อยู่ที่มหาวิทยาลัยไอดาโฮ
       
       อย่างไรก็ดี มีรายงานเกี่ยวกับไส้เดือนดินพาเลาซ์ครั้งแรกในวารสารวิทยาศาสตร์ครั้งแรกเมื่อปี 1897 โดยนักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกันนามว่า แฟรงก์ สมิธ (Frank Smith) ซึ่งเขาได้ศึกษาจากตัวอย่างไส้เดือนดินจำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ได้รับมาจาก อาร์ ดับเบิลยู โดเน (R.W. Doane) นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตต (Washington State University) เมืองพูลแมน
       
       ต่อมาการพัฒนาเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้พื้นที่บริเวณทุ่งหญ้าพาเลาซ์ถูกทำลายไปเกือบหมด และทำให้ไส้เดือนลดจำนวนลงมาก ซึ่งมีรายงานการพบตัวอย่างไส้เดือนพาเลาซ์ที่มีชีวิตเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อช่วงปลายของทศวรรษที่ 80 โดยเจมส์ จอห์นสัน (James Johnson) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไอดาโฮ พบไส้เดือนยักษ์พาเลาซ์ที่เจริญเติบโตอยู่ในระยะที่สองจำนวน 2 ตัว ในเขตป่าใกล้กับเมืองมอสโคว์ หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีไส้เดือนชนิดนี้อยู่อีกเลย จนได้รับการพิจารณาว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว
       
       กระทั่งในปี 2005 เยนีเรีย ซานเชซ-เด ลีออน (Yaniria Sanchez-de Leon) นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยไอดาโฮ พบตัวอย่างไส้เดือนดินดังกล่าวอีกครั้งในบริเวณใกล้กับเมืองแอลเบียน (Albion) ในวอชิงตัน ทว่าไส้เดือนตัวดังกล่าวถูกตัดขาดกลางลำตัวขณะที่เธอกำลังขุดหลุมบนพื้นดิน ซึ่งหลังจากการค้นพบครั้งนั้นกลุ่มอนุรักษ์ได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการปกป้องไส้เดือนดินให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง แต่กลับไม่เป็นผลโดยภาครัฐอ้างว่ายังไม่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะขึ้นทะเบียนไส้เดือนดังกล่าวเป็นสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งได้

(http://i.uppicturbo.com/pic/2504_4315.jpg) (http://www.uppicturbo4.in/v.php?s=2504_4315.jpg)
ไส้เดือนยักษ์พาเลาซ์ตัวเต็มวัย มีความยาวเต็มที่ 10-12 นิ้ว ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยไอดาโฮพบตัวอย่างไส้เดือนพาเลาซ์ที่มีชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ในทุ่งหญ้าพาเลาซ์ระหว่างรัฐไอดาโฮและวอชิงตัน