ข่าว:

🎉🎉🎉 XONLY เปิดรับลงทะเบียนสมาชิกใหม่อีกครั้ง จำกัดวันละ 50 คน จนกว่าแอดมินจะขี้เกียจรับ😀

Main Menu

เด็กไทยครองแชมป์จรวดขวดน้ำ

เริ่มโดย 02766132, มกราคม 26, 2010, 06:10:46 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

02766132

หลังส่งเด็กไทยเข้าแข่งขัน "จรวดขวดน้ำ" ระดับนานาชาติที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 4 ปีก่อน แล้วคว้าชัยกลับมาได้ จากนั้นมาก็ยังไม่มีตัวแทนเยาวชนไทยที่คว้ารางวัลได้อีก จนกระทั่งไทยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันครั้งล่าสุดนี้ เด็กไทยสามารถทำสถิติ "ยิงแม่น" เข้าใกล้เป้าหมาย 0.06 เมตร คว้าอันดับหนึ่งมาครอง
       
       ปิดฉากลงแล้วสำหรับการแข่งขันจรวดขวดน้ำนานาชาติ APRSAF-16 ซึ่งเยาวชน 40 คนจาก 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ บังกลาเทศ กัมพูชา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา เวียดนามและไทย เข้าแข่งขันชิงชนะเลิศกันเมื่อวันที่ 24 ม.ค.53 ณ สนามแข่งขัน อพวช. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คลองห้า ปทุมธานี และเป็นครั้งแรกที่มีเยาวชนจากประเทศเอกวาดอร์เข้าแข่งขัน ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีสิทธิส่งตัวแทนเข้าแข่งขันไม่เกิน 6 คน และเป็นการแข่งขันแบบบุคคล
       
       ผลจากการแข่งขันทำสถิติ 2 รอบ นายศฤงคาร ทองแท้ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนจุ๋งฮัวโซะเซียว จ.ตรัง สามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศอันดับ 1 มาได้ด้วยสถิติยิงจรวดเข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุด 0.06 เมตร ส่วนอันดับ2 ได้แก่ นายฮี เจียง ตัน (He Jiang Tan) นักเรียนมัธยมจากโรงเรียนมัธยมดูเนิร์น (Dunearn Secondary School) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งทำสถิติได้ 0.26 เมตร และอันดับ 3 ได้แก่ นายสุทธิพงษ์ รุ่งรักษ์ นักเรียน ม.5 จากโรงเรียนจุ๋งฮัวโซะเซียว จ.ตรัง ซึ่งทำสถิติได้ 2.08 เมตร
       
       กติกาในการแข่งขันคือ ผู้เข้าแข่งขันต้องประดิษฐ์จรวดขวดน้ำขึ้นจากอุปกรณ์ที่กำหนดให้เท้านั้น ได้แก่ ขวดพลาสติก PET ลูกบอลพลาสติก ดินน้ำมัน แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด การ์ดและพลาสติกใส แต่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทุกอย่าง โดยออกแบบได้อย่างอิสระ จากนั้นปล่อยจรวดขวดน้ำจากฐานยิงที่อยู่ห่างจากเป้าหมาย 70 เมตร ส่วนเป้าหมายเป็นพื้นที่วงกลมรัศมี 5 เมตร ผู้ที่ชนะคือผู้ที่ยิงจรวดได้ใกล้จุดศูนย์กลางมากที่สุด
       
       นายศฤงคารกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ชัยชนะในครั้งนี้เกิดจากการฝึกซ้อมอย่างหนักทุกวัน รวมทั้งการผลักดันจากอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งในการประดิษฐ์จรวดขวดน้ำยังต้องศึกษาทฤษฎีควบคู่ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนที่แบบโปรเจกต์ไตล์ ที่เพิ่งได้เรียนผ่านไปเมื่อตอน ม.4 นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทีม ที่ร่วมกันแข่งขันในระดับประเทศ และชนะเลิศการแข่งขันประเภทยิงไกล ก่อนคัดตัวแทนแข่งขันในระดับนานาชาติ
       
       ด้าน นายสุทธิพงษ์เพื่อนร่วมทีม "จุ๋งฮัวโซะเซียว 201" ร่วมกับนายศฤงคารกล่าวว่า นอกจากโปรเจกต์ไตล์แล้ว พวกเขายังต้องศึกษาเรื่องแรงโน้มถ่วงและกฎของนิวตัน รวมถึงออกแบบให้จรวดขวดน้ำต้านลมน้อยลง ซึ่งการแข่งขันจรวดขวดน้ำยังเป็นแรงบันดาลใจให้เขาและเพื่อนๆ ร่วมทีมสนใจที่จะศึกษาต่อด้านวิศวกรรมเครื่องกลด้วย
       
       พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ยังได้พูดคุยกับ น.ส.บินัมราทา ชาร์มา (Binamrata Sharma) นักเรียนเกรด 8 โรงเรียนอินทราธนุสอิงลิชบอร์ดิงสคูล (Indradhanush English Boarding School) ซึ่งเป็นตัวแทนหญิงคนเดียวจากเนปาล ซึ่งเธอมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักบินอวกาศ แต่จริงๆ แล้วเธอสนใจทั้งฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ และเทคโนโลยีอวกาศ โดยอยากทำงานในแวดวงเหล่านี้
       
       กัมพูชาเป็นอีกประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับนานาชาติในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย 1 คน โดยนายสริธ แมม (Mam Sarith) นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษากัมพูชา และอาจารย์พิเศษวิชาวิทยาศาสตร์โลก โรงเรียนปันนาศาสตราอินเตอร์เนชันแนลสคูล (Pannasastra International School) กัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาได้ส่งตัวแทนเข้าแข่งขันจรวดขวดน้ำนานาชาติตั้งแต่ปี 2006 ยกเว้นปี 2009 ที่ใช้เวลาไปกับการเตรียมความพร้อมตัวแทน
       
       ทั้งนี้ กัมพูชาได้คัดเลือกตัวแทนจากโรงเรียนปันนาศาสตราอินเตอร์เนชันแนลสกูล โดยคัดเลือกจากผลการเรียน ซึ่งตัวแทนที่เข้าแข่งขันในครั้งนี้ได้เกรด A ทุกวิชา และคัดเลือกจากความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถสื่อสารกับตัวแทนประเทศอื่นๆ ได้ดี
       
       สำหรับการแข่งขันจรวดขวดน้ำ APRSAF-16 นั้น เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นควบคู่กับการประชุมเครือข่ายองค์กรเทคโนโลยีทางอวกาศเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Space Agency Forum: APRSAF) ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นในประเทศไทยระหว่างวันที่ 23-29 ม.ค.53 ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยมีองค์การอวกาศญี่ปุ่น (แจกซา) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. เป็นเจ้าภาพร่วมกัน
       
       นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการกองข้อมูลและวิเทศสัมพันธ์ สำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช. กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การแข่งขันจรวดขวดน้ำเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์ในการประชุม APRSAF ที่ต้องการสนับสนุนการศึกษาและสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีอวกาศ
       
       พร้อมกันนี้ นางกรรณิการ์กล่าวว่า กติกาที่ใช้ในการแข่งขันนี้เป็นกติกาที่กำหนดขึ้นโดยไทย ซึ่งอาจเป็นมาตรฐานของกติกาที่จะใช้ในการแข่งขันต่อไปในอนาคต โดยการแข่งขันทีผ่านมามีกติกาที่ไม่เข้มข้นนัก วัดเพียงการยิงจรวดขวดน้ำให้ถึงเส้นที่กำหนด แต่เนื่องจากการยิงจรวดขวดน้ำนั้นควบคุมทิศทางได้ลำบาก จึงกำหนดกติกาขึ้นมาใหม่ให้ยิงจรวดเข้าภายในรัศมีที่กำหนด
       
       ส่วนการแข่งขันจรวดขวดน้ำจะทำให้เยาวชนสนใจเทคโนโลยีอวกาศได้อย่างไรนั้น นางกรรณิการ์กล่าวว่าแม้จรวดขวดน้ำจะดูเป็นจรวดเล็กๆ แต่ก็ใช้หลักการพื้นฐานเดียวกับจรวดจริง ทั้งเรื่องการเคลื่อนที่ในอากาศ แรงดัน การคำนวณรูปทรงจรวดใหลดแรงเสียดทาน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต้องคำนวณเองว่าจะใช้น้ำปริมาณเท่าไหร่เพื่อถ่วงให้เกิดแรงดันพุ่งไปข้างหน้าอย่างสมดุล
       
       "จรวดขวดน้ำจะให้ความรู้ด้านฟิสิกส์เป็นหลัก ดูการเคลื่อนที่ของวัตถุในอากาศ แรงดัน การแออกแบบจรวดให้ลดแรงเสียดทาน และให้จรวดพุ่งไปข้างหน้า แต่สำหรับการแข่งขันในเมืองไทยไม่ได้เน้นที่หลักการก่อน แต่จะให้เด็กได้เรียนรู้ระหว่างการทำ เพื่อให้เข้าใจแนวคิดก่อนโดยที่ยังไม่ต้องรู้เรื่องการคำนวณมากนัก" นางกรรณิการ์กล่าว
เกลียดพวกหมิ่นเบื้องบนและเผาบ้านเผาเมือง