ข่าว:

🎉🎉🎉 XONLY เปิดรับลงทะเบียนสมาชิกใหม่อีกครั้ง จำกัดวันละ 50 คน จนกว่าแอดมินจะขี้เกียจรับ😀

Main Menu

การเมืองระอุ "Facebook" ยิ่งเดือด!!!

เริ่มโดย 02766132, เมษายน 26, 2010, 05:16:28 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

02766132

การเมืองไทยนาทีนี้ร้อนเท่าใด เครือข่ายสังคมออนไลน์บนเฟสบุ๊ก (Facebook) ก็ทวีความดุเดือดมากขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่าในระดับโลก นี่คือเรื่องปกติที่แนวรบไซเบอร์จะสามารถยึดเฟสบุ๊กเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างอิสระ แต่สิ่งพิเศษที่เราคนไทยจะสามารถเรียนรู้ได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือความสมัครสมานสามัคคี อารมณ์ร่วมรุนแรง และความสามารถในการตรวจสอบพร้อมกดดันของพลังเงียบออนไลน์ ก็มีอิทธิพลไม่แพ้การชุมนุม
       
       นาทีนี้ ประชากรเฟสบุ๊กสัญชาติไทยหลายคนถูกแบ่งเป็นหลายกลุ่มก้อนด้วยการสมัครเป็นแฟน (fan) เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนในแฟนเพจ (Facebook Fan Page) อย่าง "มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้าน ต่อต้านการยุบสภา" ซึ่งมีผู้ใช้สมัครเป็นแฟนมากกว่า 420,000 คนแล้ว (17.00น. วันที่ 24 เมษายน 2553) บางคนเป็นแฟนของเพจ "รวมพลัง 1 ล้านคน สนับสนุนให้ยุบสภา" ขณะที่หลายคนเป็นแฟนของเพจ "หยุดการกระทำของคนกลุ่มเสื้อสีชมพู" ยังมีเพจ "ไม่เอาเสื้อ เบื่อเต็มทีกับพวกที่ชอบบ่อนทำลายประเทศนี้"
       
       ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มคนเหล่านี้ ผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่มีเฟสบุ๊กเป็นแกนหลัก ตามติดมาด้วยทวิตเตอร์ ทำให้เกิดปรากฏการรวมตัวกันทุกๆ วันของกลุ่มเสื้อหลากสี ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 - 18.00 นาฬิกา ในทุกๆ วันเริ่มจากอนุเสาวรีย์ฯ ไปสวนจตุจักร ลานพระบรมรูปฯ และวงเวียนใหญ่ ตามลำดับในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิของประชาชนมากขึ้น
       
       ส่วนในวันนี้ (24 เมษายน 2553) ก็ยังมีการรวมตัวกันอยู่เช่นเดิมที่ สวนจตุจักร ตั้งแต่เวลา 16.00น. กลุ่มคนเสื้อหลากสีที่สนใจสามารถไปเข้าร่วมกันได้
       
       **ทำไมต้องเฟสบุ๊ก**
       
       ถามว่าทำไมเฟสบุ๊กจึงเป็นเวทีที่การแสดงจุดยืนทางการเมืองของชาวออนไลน์เป็นไปอย่างชัดเจนและมีพลัง คำตอบคือจำนวนผู้ใช้มหาศาลของเฟสบุ๊ก และอิทธิพลทางสังคมของพลังเงียบซึ่งหลายคนเรียกว่าคลื่นใต้น้ำ
       
       เฟสบุ๊กนั้นเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ผู้คนสามารถทำความรู้จักเพื่อนของเพื่อน เชื่อมโยงกันไปไม่รู้จบ ถือกำเนิดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 โดยมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerburg) ซึ่งช่วงแรกเปิดให้ใช้เฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ก่อนจะโด่งดังขึ้นมาในชั่วพริบตา ขยายความนิยมออกจากฮาร์เวิร์ดสู่มหาวิทยาลัยใกล้เคียงกว่า 30 แห่งได้ในเวลาเพียง 4 เดือน
       
       ตลอดเวลา เฟสบุ๊กกอบโกยสมาชิกเพิ่มขึ้นได้แบบก้าวกระโดด เพราะการเปิดให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ร่วมเป็นสมาชิก และการเปิดให้ทุกคนที่มีอีเมลเป็นสมาชิกในปี 2550 ทำให้ฤดูใบไม้ร่วงปี 2551 เฟสบุ๊กมีสมาชิกสมัครใหม่มากกว่า 1 ล้านคนต่อสัปดาห์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 200,000 คน
       
       ขณะนี้เฟสบุ๊กคือเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของสหรัฐฯ และเป็นเว็บที่มีผู้อัปโหลดรูปภาพสูงที่สุด ข้อมูลจาก //www.checkfacebook.com พบว่าประเทศไทยมีผู้ใช้เฟสบุ๊กจำนวนมากกว่า 1,632,880 คนแล้ว (ข้อมูลกลางเดือนเมษายน 53) มีอัตราเติบโตเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากโปแลนด์
       
       จำนวนผู้ใช้มหาศาลทำให้เฟสบุ๊กกลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่ยอดเยี่ยม หลายแบรนด์สินค้าเลือกที่จะอัปเดทความเป็นไปของบริษัทเพื่อเพิ่มความเป็นกันเองระหว่างผู้บริโภค ขณะที่สมาชิกผู้ใช้ด้วยกันเองเลือกที่จะตั้งคำถามเพื่อเชื้อเชิญให้กลุ่มเพื่อนเกิดการมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งจะทำให้สมาชิกสามารถรู้จักตัวตนของเพื่อนได้ดียิ่งขึ้น
       
       นี่เองที่นำไปสู่การตั้งกลุ่มก้อนทางการเมืองบนโลกออนไลน์ เพราะชาวไทยหลายคนมองว่าเฟสบุ๊กคือหนทางแสดงออกทางการเมืองที่ไม่ต้องไปร่วมชุมนุมจนสังคมเดือดร้อน เฟสบุ๊กจึงถูกใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร เกิดเป็นข้อมูลนานาประเภทที่สามารถเป็นเครื่องมือชั้นยอดในการปลุกพลังเงียบของมวลชน
       
       ขณะนี้ หากทดลองค้นหาคำว่า"เสื้อ"ในแฟนเพจของเฟสบุ๊ก จะปรากฏชื่อเพจนานาประเภท เช่น กลุ่มกู ไม่เอา "เสื้อแดง", กลุ่มเสื้อแดงผู้เกลียดชัง"กองพันทหารรักษาพระองค์", แนวร่วมพิทักษ์ผู้ต่อต้านเสื้อแดง และองค์กรคนเสื้อขาวพลังนักศึกษา ซึ่งเพจทั้งหมดนี้ล้วนมีสมาชิกกลุ่มหลักร้อยขึ้นไป
       
       ล่าสุดเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ชาวเฟสบุ๊กหลายร้อยคนร่วมเป็นแฟนของ "กลุ่มคนเสื้อลายดอก ! ไม่ชุมนุม เน้นเล่นน้ำและชมนม" ด้วย
       
       **สามัคคีถล่มเกรียน**
       
       สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ชาวเฟสบุ๊กไทยนั้นมีพลังล้นเหลือในการร่วมกันตรวจสอบและกดดันผู้กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างสามัคคี กรณีศึกษาที่ดีที่สุดคือแฟนเพจ "พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา หนึ่งตำรวจดีคนตาย เพื่ออีกล้านคนชาวไทยตื่น"
       
       เพจนี้มีแฟนชาวไทยจำนวน 21,998 ราย ทุกคนต้องการเข้ามาแสดงพลังส่งแรงใจให้จ่าเพียรกระดูกเหล็ก กระทั่งช่วงการปะทะ "10 เมษายน 53" แฟนเพจของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา มีการเปลี่ยนภาพดิสเพลย์เป็น "ยุบสภา" ทำให้ชาวออนไลน์จำนวนมากส่งข้อความทั้งหยาบคายและสุภาพเข้ามาต่อว่าผู้บริหารจัดการเพจ ทำให้ภาพดิสเพลย์ถูกเปลี่ยนกลับในที่สุด
       
       "อ้ายพวกไพร่ชอบจริงเรื่องแอบอ้างคนอื่น ครั้งนี้เอาชื่อ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา มาเลยนะ เลวกันจริงๆๆ คนที่เขาเสียสละให้ประเทศ ไปเอาเขามาอยู่ในที่ต่ำ มึงนี้เกิดมาเป็นคนหาจิตสำนึกไม่ได้เลย", "น่าจะเอาผ้าถุงมานุ่งหรือก็คลุมหัวนะ ไม่มีแนวร่วมรึไงต้องมาหลอกกันแบบนี้ หน้าตัวเมีย" และ "เลวจริงๆ หลอกกูเข้ามา" เหล่านี้คือคำต่อว่าของสมาชิกซึ่งมองว่าผู้สร้างแฟนเพจใช้ชื่อวีรบุรุษอย่างจ่าเพียรบังหน้า เพื่อหาทางดึงชาวออนไลน์ไปสนับสนุนคนเสื้อแดง
       
       นอกจากการเมือง เฟสบุ๊กเมืองไทยยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากคือการเปิดแฟนเพจ "Anti Prof. Dr. Utumporn Jamornmann! (สมาคมคนต่อต้าน ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน)" จำนวนแฟนขณะนี้คือ 18,502 คน เพื่อเป็นแหล่งรวมตัวของคนไทยที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ห่วงใยต่ออนาคตการศึกษา
       
       แฟนในเพจนี้ระบุว่าพบปัญหาในมาตรฐานข้อสอบและวิธีการจัดสอบ Ordinary National Educational Test (O-net) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบวัดผลเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง ปัญหาใหญ่คือเนื้อหาข้อสอบกำกวมและก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ กลุ่มจึงรวมตัวต่อต้าน ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมระบบการออกข้อสอบและการจัดสอบ O-net
       
       คาดว่ากระแสต่อต้านจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการสอบ O-net ปีหน้า ซึ่งถือเป็นบทเรียนราคาแพงของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
       
       **ต่างประเทศก็มี**
       
       เฟสบุ๊กนั้นเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ในตลาดต่างประเทศ และถูกใช้เป็นเครื่องสร้างกระแสปฏิวัติผ่านสังคมออนไลน์เต็มรูปแบบ เช่น อียิปต์ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเลือกใช้เฟสบุ๊กและเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ เพื่อจุดชนวนให้ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลอย่างได้ผล
       
       ในอิหร่านและจอร์เจียก็เช่นกัน ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้มีระบบควบคุมและคัดกรองข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังสามารถปลุกกระแสมวลชนบนโลกออนไลน์อย่างมีพลังน่าเกรงขาม เนื่องจากผู้ใช้จะสามารถรับรู้ข้อมูลการนัดชุมนุม รับส่งข่าวสารวงในที่รู้มา การส่งต่อที่อยู่เว็บไซต์ที่มีการโพสต์ภาพ หรือวีดิโอคลิป ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงการใช้ความรุนแรงในการเข้าปราบปรามจากฝ่ายตรงข้าม
       
       บทสรุปของประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อรวมพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสื่อสาร เข้ากับความแน่นแฟ้นของผู้ใช้ในรูปสังคมออนไลน์ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความเข้าใจที่มากขึ้นของชนชั้นกลางคนรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลที่กว้างขวางหลากหลายได้ดีกว่าเดิม เทียบกับในอดีตที่การปกปิดความจริงในสถานการณ์ต่างๆ สามารถทำได้ง่ายดายนัก
       
       ฉะนั้น คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่อาจจะกลัวแดดรักสบายจนไม่ออกมาร่วมชุมนุมจริง แต่เรื่องจริงมากกว่านั้นคือการรวมตัวบนโลกออนไลน์ก็มีพลังไร้ขีดจำกัดอย่างน่ากลัวไม่แพ้กัน!!!
เกลียดพวกหมิ่นเบื้องบนและเผาบ้านเผาเมือง