ข่าว:

🎉🎉🎉 XONLY เปิดรับลงทะเบียนสมาชิกใหม่อีกครั้ง จำกัดวันละ 50 คน จนกว่าแอดมินจะขี้เกียจรับ😀

Main Menu

ถอดรหัส"แดง"ไม่ยอมสลาย ติดเงื่อนไข พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เริ่มโดย ~นักย.ในตำนาน~, พฤษภาคม 14, 2010, 09:37:52 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

~นักย.ในตำนาน~

แก้ไขล่าสุด noves2582 เมื่อ 2010-5-14 14:08

ท่าทีของแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ยื่นเงื่อนไขใหม่รายวันและยืนกรานชุมนุมต่อไป


โดยไม่ไยดีต่อแผนปรองดองของรัฐบาลนั้น ทำให้สถานการณ์ที่สี่แยกราชประสงค์ กลับมาตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง


ล่าสุดศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขู่ใช้มาตรการเข้มสลายการชุมนุมอีกรอบ...

ปริศนาที่หลายคนข้องใจ ก็คือ เหตุใด "แกนนำเสื้อแดง" จึงยังไม่ยอมเลิกชุมนุม

หากจับความเคลื่อนไหวของบรรดาแกนนำ ทั้งเงื่อนไขที่ให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ตกเป็นผู้ต้องหาคดีสั่งสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษาฯ เสียก่อน และการระดมนักกฎหมายน้อยใหญ่ ทั้งทนาย อดีตตำรวจ อดีตผู้พิพากษา เข้าหารืออย่างเคร่งเครียด ที่หลังเวทีราชประสงค์ เมื่อค่ำวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา สรุปได้ว่าประเด็นที่แกนนำยังคงหวั่นกลัว คือ การ "ถูกรวบ" หากยุติม็อบแล้วเข้ามอบตัว

ประเด็นร้อนที่ว่านี้ ทำให้สภาพความสัมพันธ์ในหมู่ "แกนนำเสื้อแดง" ที่ก่อนหน้านี้ แตกออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ๆ อยู่แล้ว คือ "เลิก" กับ "ไม่เลิก" ชุมนุม ล่าสุดได้กลายเป็นแตกละเอียด เพราะมีความเห็นไปคนละทิศละทาง

หัวข้อสำคัญที่มีการหารือกัน เมื่อค่ำวันที่ 12 พฤษภาคม มีอยู่ 2 เรื่อง...

หนึ่ง คือ การที่นายสุเทพเข้าพบพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นการเข้ามอบตัวตามเงื่อนไขเดิม ที่แกนนำยื่นต่อรองกับรัฐบาลไปก่อนหน้านี้แล้วหรือยัง

สอง คือ ความมั่นใจที่ว่าหากบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงเข้ามอบตัว จะต้องได้รับการประกันตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราว

จะว่าไปทั้ง 2 เรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกัน กล่าวคือ เงื่อนไขที่ให้นายสุเทพเข้ามอบตัว หากเป็นการเข้ามอบตัวตาม "หมายจับ" ในคดีอาญา กรณีสั่งสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษาฯ จนมีผู้เสียชีวิต นายสุเทพในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ย่อมได้รับการประกันตัวแน่นอนอยู่แล้ว บรรดาแกนนำเสื้อแดงก็จะนำเรื่องนี้มาอ้างกับการเข้ามอบตัวของพวกตนเอง ว่า จะต้องได้รับประกันตัวเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้เป็นการปฏิบัติ "สองมาตรฐาน"

ทว่า นายสุเทพดันไปมอบตัวกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ซึ่งยังไม่ได้ตั้งคดีหรือมีหมายจับ มีเพียงคดีย่อยๆ ที่ผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเข้าแจ้งความไว้กับตำรวจ แต่สำนวนเหล่านั้น ส่วนหนึ่งก็ส่งให้ดีเอสไอ เพราะรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ขณะที่อีกส่วนหนึ่งส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อ

ข้อเท็จจริง ก็คือ สำนวนคดีทั้ง 2 ส่วนนี้ ปลายทางย่อมหนีไม่พ้นส่งให้ ป.ป.ช. เพราะเป็นการกล่าวหานายสุเทพในความผิดอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (เป็นรองนายกฯ และผู้อำนวยการ ศอฉ.) ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ขณะที่ตำรวจหรือแม้แต่ดีเอสไอ มีอำนาจเพียงสรุปสำนวนเบื้องต้นส่ง ป.ป.ช.เท่านั้น โดยไม่ต้องควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาส่ง ป.ป.ช.ด้วย

การจับกุม มอบตัว หรือประกันตัวที่เกี่ยวพันกับนายสุเทพตามที่แกนนำคนเสื้อแดงต้องการ จึงไม่เกิดขึ้นในขั้นตอนนี้

ฉะนั้นคำถามจึงไปกระจุกอยู่ในหัวข้อที่ 2 คือ แกนนำจะมั่นใจได้อย่างไร ว่า เมื่อพวกตัวเองเข้ามอบตัวบ้าง จะได้รับการประกันตัว

ประเด็นนี้ยังมีประเด็นแยกย่อยอีกหลายประเด็น เช่น

1. แกนนำแต่ละคนถูกออกหมายต่างกัน บางคนโดน "หมาย ฉฉ." ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) บางคนโดนหมายอาญา ออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิอาญา) บางคนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ถูกโอนไปเป็นคดีพิเศษแล้ว ซึ่งแต่ละกลุ่มมีโอกาสและขั้นตอนการประกันตัวแตกต่างกัน

2. แกนนำสายพรรคเพื่อไทย นำโดย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ ตั้งธงว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและกดดันการชุมนุมนั้น น่าจะสิ้นสภาพไปแล้ว เพราะออกตามความในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งถูกฉีกทิ้งไปจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

แกนนำสายนี้จึงเดินหน้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าว

แต่กระนั้น แหล่งข่าวระดับสูงในวงการศาล ยืนยันว่า เป็นประเด็นที่ "ฟังไม่ขึ้น" เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอันสิ้นสภาพไปตามกฎหมายแม่บท

ปัญหาจึงอยู่ที่ "หมายจับ" และการให้ประกันตัวหรือไม่เท่านั้น

จากการตรวจสอบของ "กรุงเทพธุรกิจ" พบว่าบรรดาแกนนำและแนวร่วมที่ถูกออกหมาย ฉฉ. มีจำนวนทั้งสิ้น 42 คน ออกโดยกองบังคับการปราบปราม 35 คน และกองบัญชาการตำรวจนครบาล 7 คน แต่ใน 42 คนนี้ มีหลายคนที่มีหมาย ป. วิอาญา ซ้อนอยู่ด้วย เช่น นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ขณะที่บางคนก็ถูกจับกุมแล้ว เช่น นายเมธี อมรวุฒิกุล หรือดาราเสื้อแดง

ปัญหา ก็คือ กลุ่มบุคคลที่ถูกออกหมาย ฉฉ.นั้น ตามกฎหมายแล้ว เจ้าพนักงานมีสิทธิควบคุมตัวได้เลย โดยไม่ต้องขออำนาจศาล ต่างจากหมาย ป. วิอาญา ที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจคุมตัวแค่ 48 ชั่วโมง จากนั้นต้องไปขออำนาจศาลฝากขัง

สำรวจท่าทีของแกนนำทุกคนแล้วสรุปได้ว่า "หมาย ป. วิอาญา" นั้นไม่กลัว แต่ที่กลัว คือ "หมาย ฉฉ." ที่ออกโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมตัวได้สูงสุดถึง 30 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหา

ปริศนาข้อต่อมา ก็คือ หากรัฐบาลอยากให้คนเสื้อแดงเลิกชุมนุมจริง ทำไมจึงไม่ประกาศปล่อยตัวแกนนำทันที หากยอมเข้ามอบตัว หรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เสียก่อน แล้วค่อยรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขอหมายจับในคดีอาญาแทน แต่ท่าทีของรัฐบาลที่ปรากฏ ก็คือ มอบตัวเมื่อไรจับแน่ เพราะได้เตรียมค่ายทหาร และค่าย ตชด. 6 แห่งทั่วประเทศรอไว้แล้ว

ข้อมูลหลายแหล่งจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ระบุตรงกันว่า สาเหตุที่รัฐบาลไม่กล้าประกาศให้ปล่อยตัวแกนนำทันทีที่เข้ามอบตัว ก็เนื่องจากไม่มั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่ว่าจะมีน้ำหนักเพียงพอให้ศาลอนุมัติหมายจับในคดีอาญาในข้อหาฉกรรจ์ที่เคยโฆษณาเอาไว้หรือไม่ โดยเฉพาะข้อหา "ก่อการร้าย" และ "ล้มสถาบัน"

เพราะแม้แต่ 4 ฐานความผิดในคดี 10 เมษาฯ ที่ดีเอสไอรับโอนมาเป็นคดีพิเศษ จนถึงป่านนี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีหลักฐานเพียงพอสำหรับแจ้งข้อกล่าวหา และขออนุมัติหมายจับจากศาลหรือไม่

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงกลายเป็นความจำเป็นสูงสุดสำหรับรัฐบาล และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่บรรดาแกนนำไม่ยอมเข้ามอบตัว...

ความปกติสุขที่สี่แยกราชประสงค์ จึงต้องรอต่อไป เพราะทั้งสองฝ่ายยังชิงไหวชิงพริบกันด้วยเทคนิคกฎหมาย เพื่อความได้เปรียบของหมู่พวกตน!